การบรรยายและคำสอนเป็นลิขสิทธิ์ของเนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์ สามัญสมาชิกและสมาชิกวิสามัญ พึงปฏิบัติตามจริยธรรมและกฎหมาย ไม่ร่วมมือและสนับสนุนผู้กระทำความผิด เนื่องจากข้อมูลของสามัญสมาชิกและสมาชิกวิสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภาไม่เป็นปัจจุบัน เนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอเชิญชวนให้สมาชิกเข้ามาปรับปรุงข้อมูลได้ด้วยตนเองทางเว็บไซต์เนติบัณฑิตยสภา เพื่อสิทธิประโยชน์ของสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา :: สงวนสิทธิ์ในการบรรยายกฎหมายออนไลน์เป็นลิขสิทธิ์ของเนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์ การเผยแพร่ ทำซ้ำ ดัดแปลง ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือใช้วิธีการใดก็ตามต้องได้รับอนุญาตจากเนติบัณฑิตยสภาก่อน

 

 
 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๖)

                                            องค์พระธีรราชเจ้า                                ผู้ผ่านเผ้าไผทสยาม
                                            ธ คือปราชญ์ผู้ลือนาม                           ทั่วเขตคามรำลึกคุณ
                                            ทรงก่อตั้งกิจลูกเสือ                               ด้วยโอบเอื้อเหล่าดรุณ   
                                            การปกครองก็การุณย์                           ธ หนุนสร้างแบบอย่างเมือง           
                                            คือ “ดุสิตธานี”                                      เป็นที่สอนซึ่งปราดเปรื่อง     
                                            สร้างฐานอันรุ่งเรือง                              จำลองเรื่องประชาธิปไตย 
                                            อุปถัมถ์เนติบัณฑิต                               ทรงค้นคิดแนวทางใหม่ 
                                            ยกระดับกฎหมายไทย                           ให้กำเนิด “เนติบัณฑิตยสภา”
                                            เป็นศูนย์รวมวิชาชีพ                             ทรงเร่งรีบเรื่องศึกษา 
                                            โปรดเกล้าฯ ตั้ง “ตั้งสภา                        นิติศึกษา” เป็นหลักนำ
                                            วางระเบียบโรงเรียนกฎหมาย                ให้แพร่หลายและเลิศล้ำ 
                                            นักกฎหมายจึงจดจำ                             ที่ ธ ทำเพื่อผองไทย 
                                            ยี่สิบห้าพฤศจิกา                                  จารึกคุณยิ่งใหญ่              
                                            เนติบัณฑิตรวมดวงใจ                          เทิด ธ ไว้ไม่ลืมเลือนฯ
 
                                                                                            ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
                                                                           ข้าพระพุทธเจ้า เนติบัณฑิตยสภาในพระบรมราชูปถัมภ์
                                                                                       (ศาสตราจารย์ วิชา มหาคุณ ประพันธ์)

 

พระราชประวัติ

         พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๖ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๔๒ เวลา ๘ นาฬิกา ๕๕ นาที ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๒๔ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์ที่ ๒ ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงได้รับพระราชทานพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราวุธ” สมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนีตรัสเรียกว่า “ลูกโต” เมื่อพระชนมายุได้ ๘ พรรษา ในปี ๒๔๓๑ ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี ปรากฏพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เอกอัครมหาบุรุษบรมนราธิราช จุฬาลงกรณ์นาถราชวโรรส มหาสมมตขัตติยพิสุทธิ์ บรมมกุฎสุริยสันตติวงศ์ อดิสัยพงศ์วโรภโตสุชาติ คุณสังกาศวิมลรัตน์ ทฤฆชนมสวัสดิขัตติยราชกุมาร มุสิกนาม ทรงศักดินา ๕๐,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าต่างกรม ให้ทรงดำรงพระเกียรติยศเป็นชั้นที่ ๒ รองจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และได้มีพระราชพิธีโสกันต์ในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๓๕

         ใน พ.ศ. ๒๔๔๗ ได้ผนวชตามโบราณราชประเพณี ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ประทับจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร ๑ พรรษา ทรงได้รับสมณฉายาจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระราชอุปัธยาจารย์ว่า “วชิราวุโธ”

         เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบแทนเมื่อเวลา ๐.๔๕ นาฬิกา ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจัดเป็น ๒ งาน คือ งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมนเทียรเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๓ และงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๔ 

         พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรด้วยโรคทางเดินอาหารขัดข้อง ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่าทรงพระประชวรด้วยโรคพระโลหิตเป็นพิษในพระอุทรมาตั้งแต่วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘ และสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘ เวลา ๑ นาฬิกา ๔๕ นาที พระชนมพรรษาเป็นปีที่ ๔๖ เสด็จดำรงสิริราชสมบัติได้ ๑๕ พรรษา 

         เนื่องจากเสด็จสวรรคตเวลา ๑ นาฬิกา ๔๕ นาที ล่วงมาในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘ เพียงไม่กี่นาที พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชประสงค์ให้ใช้วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน เป็นวันสวรรคต และวันที่ ๒๖ พฤศจิกายนเป็นวันเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทางราชการได้กำหนดให้วันที่ ๒๕ พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันที่ระลึกวันมหาธีรราชเจ้า และวันที่ ๒๖ พฤศจิกายนเป็นวันเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ