ประกาศ สำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา (ส.ช.น.) เรื่อง รับสมัครทนายอาสา ส.ช.น. ขอรับและยื่นใบสมัครพร้อมเอกสาร ตั้งแต่วันที่ 2 - 27 ธันวาคม 2567 (คลิกประกาศและใบสมัคร) [update 28.11.2067]
กฎหมายน่ารู้ ฉบับคู่มือประชาชน (คลิก) [update 17.07.2021]
สำนักงาน/ประวัติ
สำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ชื่อย่อว่า “ส.ช.น.” มีฐานะเป็น “สำนักงานตามข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2512 ซึ่งเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ผู้ทรงพระราชทานกำเนิดเนติบัณฑิตยสภา เพื่อส่งเสริมความรู้ในวิชานิติศาสตร์และควบคุมมารยาทผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายรวมทั้งให้อนุเคราะห์แก่บุคคลผู้ยากจน หรือมีรายได้น้อย ได้มีโอกาสป้องสิทธิของตนและให้ประชาชนมีสิทธิได้รับความยุติธรรมตามกฎหมาย โดยเสมอภาคและทั่วหน้ากัน
วัตถุประสงค์
ตามระเบียบเนติบัณฑิตยสภาว่าด้วยการจัดระเบียบสำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ.2541 กำหนดให้สำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา มีวัตถุประสงค์ดังนี้
1. ให้คำแนะนำและปรึกษาปัญหากฎหมายแก่ประชาชนทั่วไป และให้ความช่วยเหลือในการดำเนินคดีแก่ประชาชนที่มีฐานะยากจนและไม่ได้รับความเป็นธรรม
2. ให้การฝึกอบรมแก่นักศึกษาสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ให้มีทักษะความรู้ความสามารถและประสบการณ์ภาคปฏิบัติในวิชาชีพกฎหมาย
3. ให้นักศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษาจากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาได้บำเพ็ญประโยชน์ตามอุดมคติที่ถูกต้องของนักกฎหมายอันพึงมีต่อสังคม
การให้ความช่วยเหลือ
การให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายแบ่งเป็น 2 ประเภท
1. ให้คำแนะนำและปรึกษาปัญหากฎหมายแก่ประชาชนทั่วไป ที่มาขอคำแนะนำและคำปรึกษาการขอรับคำแนะและคำปรึกษานั้น สามารถกระทำได้ 2 วิธี คือ มาขอรับคำปรึกษาด้วยตนเอง ณ สำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ซึ่งอยู่ในบริเวณอาคารของเนติบัณฑิตยสภาชั้น 1 หรือทางโทรศัพท์ โดยสำนักงานฯได้จัดให้มีทนายความอาสา เพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำปรึกษาอยู่ประจำสำนักงานฯทุกวัน ในเวลาราชการ ซึ่งผู้ที่มาขอรับคำปรึกษาจะมาด้วยตนเองหรือทางโทรศัพท์ก็ได้ โดยไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ และ
2. ให้ความช่วยเหลือในการดำเนินคดีแก่ประชาชน โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแก่ผู้ที่มีฐานะยากจนและไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งตนเองไม่สามารถที่จะดำเนินคดีได้โดยมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
ก. เป็นการร้องขอด้วยความสุจริตและเป็นกรณีที่ได้ไม่รับความเป็นธรรม
ข. เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีฐานะยากจน
ค. เป็นผู้ที่ไม่มีความประพฤติเสียหายหรือเสื่อมเสียต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนและ
ง. รูปคดีทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงสามารถให้ความช่วยเหลือได้
การขอรับความช่วยเหลือ
ผู้ที่มาขอความช่วยเหลือทางกฎหมายมีระเบียบปฏิบัติดังนี้
1. ผู้ขอความช่วยเหลือทางกฎหมายต้องแจ้งข้อเท็จจริงหรือปัญหาต่างๆ ที่ต้องการขอความช่วยเหลือรวมทั้งตอบข้อซักถามใดๆ ต่อทนายความอาสาหรือนิติกรของสำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายฯ (ส.ช.น.) ด้วยความสุจริตและความเป็นจริง
2. ในกรณีที่ขอคำแนะนำและปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือในการดำเนินคดี รวมตลอดถึงการรับเป็นทนายความให้แก่ผู้ขอความช่วยเหลือ ที่มีฐานะยากจนและไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งตนเองไม่สามารถที่จะดำเนินคดีได้ ทั้งคดีแพ่งหรืออาญาหรือในเรื่องอื่นใดก็ตาม ผู้ขอความช่วยเหลือไม่ต้องเสียค่าจ้างทนายความหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เว้นแต่ค่าฤชาธรรมเนียมต่างๆ ที่จะต้องเสียให้แก่ศาลหรือทางราชการเท่านั้น เช่น ค่าขั้นศาล ค่าคำร้อง คำขอ ค่าอ้างเอกสาร หรือส่งหนังสือค่าใบแต่ทนายความ ค่าตรวจพิสูจน์เอกสาร ค่าคัดสำเนาหรือค่าถ่ายเอกสาร เป็นต้น
สถานที่ติดต่อ
สำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา (ส.ช.น.)
อาคารเนติบัณฑิตยสภา เลขที่ 32/2-8 หมู่ที่ 16 ถ.กาญจนาภิเษก
แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร
โทร. 02-887-6801-7 ต่อ 104, 108,109 หรือ 02-887-6811 โทรสาร. 02-887-6811
เวลาทำการ
วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 08.30 - 18.30 นาฬิกา
วันเสาร์ เวลา 08.30 - 16.30 นาฬิกา
เว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์
# สถิติการให้คำปรึกษาและรับช่วยเหลือดำเนินคดีทางกฎหมาย ประจำปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563 - กันยายน 2564) (คลิก) update [05.04.2021]
# สถิติการให้คำปรึกษาและรับช่วยเหลือดำเนินคดีทางกฎหมาย ประจำปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560 - กันยายน 2561) (คลิก) update [09.01.2018]
# สถิติจำนวนคดีที่ดำเนินการถึงที่สุด ปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563 - กันยายน 2564) (คลิก) update [05.04.2021]
# สถิติจำนวนคดีที่ดำเนินการถึงที่สุด ปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560 - กันยายน 2561) (คลิก) update [09.01.2018]